วันพุธที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2555

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์


        หากพูดถึงชื่อคณะวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ หลายๆ คนคงจะคิดว่าเป็นคณะที่ค่อนข้างมีความน่าสนใจ และเป็นคณะหนึ่งที่กำลังเป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน แต่คณะนี้เค้าเรียนไปทางด้านไหน เรียนเกี่ยวกับอะไรหล่ะ ลองมาดูกันครับ


วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ไม่เคยสอนให้ผมซ่อมคอมพิวเตอร์เลย !
          หลายๆ คนคิดว่า คนที่เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จบออกมาแล้วจะต้องซ่อมคอมพิวเตอร์ได้ แต่จริงๆ แล้วมันไม่ได้เป็นเช่นนั้นครับ
วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เราสามารถแยกเป็น 2 คำ ครับ คื วิศวกรรม และ คอมพิวเตอร์ 

แล้วเรารู้จักความหมายของ 2 คำนี้ดีแค่ไหนครับ ?

       วิศวกรรม คือ การสร้างหรือทำอะไรสักอย่างหนึ่งโดยมีระเบียบแบบแผนที่ชัดเจน มีขั้นตอนวิธีที่แน่นอน สามารถตรวจสอบได้
       คอมพิวเตอร์ คือ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ ที่สามารถรับข้อมูล หรือ ชุดคำสั่ง แล้วนำไปประมวลผลเพื่อใช้ในการคำนวณที่ซับซ้อน และ แก้ปัญหาต่างๆ โดยสามารถที่จะแสดงผลลัพธ์ออกมาได้ และ สามารถบันทึกผลลัพธ์นั้นได้
            เมื่อเอามารวมกัน จะได้ว่า การสร้างชุดคำสั่ง การสร้างข้อมูล การประมวลผลข้อมูล การแก้ปัญหาต่างๆ โดยการเขียนคำสั่งให้คอมพิวเตอร์แก้ปัญหาให้ รวมไปถึงการสร้างวงจร อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ที่มีความสำคัญกับการทำงานของคอมพิวเตอร์
ลักษณะของการเรียนจะเป็นการเรียนผสมกันระหว่างวิศวกรรมไฟฟ้า และ วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ ซึ่งผู้ที่เรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะเรียนเกี่ยวกับระบบต่างๆ ของคอมพิวเตอร์ แต่ละส่วนทำงานได้อย่างไร ข้อมูลจะเก็บตรงไหนอย่างไร ทั้งในเชิงวัตถุ (เห็นว่าข้อมูลเป็นอย่างไร) และในเชิงกายภาพ (รู้ว่าไฟฟ้าวิ่งในคอมพิวเตอร์อย่างไร) จะเห็นว่าเราเรียนลึกกว่าการซ่อมคอมพิวเตอร์ครับ แต่ที่วิศวกรคอมพิวเตอร์สามารถซ่อมคอมพิวเตอร์ได้ ก็เกิดจากการศึกษาเพิ่มเติมจากตัวเค้าเองครับ บางคนซ่อมเป็นก่อนมาเรียนวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ

วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ จะแบ่งออกเป็น 3 สาย หลักๆ ครับ

         1.สาย Hardware -> สายนี้จะเรียนเกี่ยวกับการทำงานของอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ และ เรียนรู้ที่จะสร้างอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ขึ้นมา ซึ่งทางสายนี้จะมีความใกล้ชิดกับวิศวกรรมไฟฟ้าค่อนข้างมาก โดยจะเรียนไปถึงวงจรต่างๆ อุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ต่างๆ แรงดันไฟฟ้า กระแสไฟฟ้า ฯลฯ โดยจะนำความรู้ที่เรียนไปทั้งหมด มาทำการสร้างอุปกรณ์อิเล็คทรอนิกส์ชิ้นนึงที่สามารถทำงานร่วมกับคอมพิวเตอร์ได้ อนึ่งการเรียนทางด้านสาย Hardware ก็จะมีการเขียนโปรแกรมด้วยเช่นกัน แต่จะเป็นโปรแกรมที่ใช้ควบคุม Hardware เช่นภาษา Assembly
          2.สาย Software -> สายนี้จะเรียนเน้นไปทางด้านการเขียนโปรแกรม ทั้งโปรแกรมระบบ และ โปรแกรมประยุกต์ โดยจะเรียนตั้งแต่พื้นฐานของการแก้ไขปัญหาอย่างมีวิธีการ (Algorithm อัลกอริธึม) ตลอดไปถึงการเรียนรู้ว่า คอมพิวเตอร์มีการทำงานอย่างไร เมื่อเขียนโปรแกรมลงไป โปรแกรมจะนำค่าที่ได้ไปเก็บไว้ที่ไหน แล้วเราจะเรียกค่านั้นมาใช้ได้อย่างไร เรามีขั้นตอนวิธีในการรับงานเขียนโปแกรม วิเคราะห์ระบบอย่างไร (Software Engineering) โดยเราอาจจะไม่จำเป็นต้องเขียนโปรแกรมก็ได้ เราเพียงแค่วิเคราะห์ระบบว่าจะให้ทำงานไปในทิศทางใด อย่างไร แก้ปัญหาใด และนำแนวคิดเหล่านั้นไปโยนให้โปรแกรมเมอร์เขียนก็ได้ครับ
           3.สาย Network -> สายนี้ดูจะเป็นสายที่มีผู้เรียนค่อนข้างมาก เป็นสายที่เรียนเกี่ยวกับการสื่อสารข้อมูล ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งเนื้อหาจะเริ่มตั้งแต่สัญญาณที่ส่งผ่านตัวกลาง คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า คลื่นวิทยุ จนนำพื้นฐานที่เรียนมาทำการสร้างเป็นระบบเครือข่าย LAN, MAN หรือ WAN นอกจากนั้นบรรดา Hacker ทั้งหลายโดยส่วนมากก็จะอยู่สายนี้ครับ เราจะเรียนเกี่ยวกับการเขียนโปรแกรม การควบคุมระบบปฏิบัติการที่นิยมใช้เป็นแม่ข่าย คุณสมบัติของสายส่งข้อมูล หรือ ตัวกลางแบบไร้สาย
          จะเห็นได้ว่า วิศวกรรมคอมพิวเตอร์ เรียนค่อนข้างครอบคลุมเนื้อหาสาระของ วิทยาการคอมพิวเตอร์ (Computer Science), MIS(Management Information System) และสาขาอื่นๆ ของคอมพิวเตอร์ (อาจจะมีไฟฟ้านิดหน่อย) ดังนั้นเมื่อจบมาแล้ว สายงานที่เป็นไปได้จะมีหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นนักพัฒนาระบบ โปรแกรมเมอร์ นักวิเคราะห์ระบบ ผู้ดูแลระบบเครือข่าย วิศวกรระบบ ผู้พัฒนาฮาร์ดแวร์ ฯลฯ

ทำอย่างไรให้จบไปแล้ว มีงานทำ ??
           เชื่อว่าหลายๆ คนคงจะมีคำถามนี้อยู่ในใจแน่นอน พี่ก็จะบอกให้ว่าจริงๆ แล้วจบไป ยังไงก็มีงานทำครับ ถ้าน้องไม่เลือกงาน แต่บางครั้งมันอาจจะขึ้นอยู่กับความสามารถของน้องๆ ด้วย ลองคิดดูว่าถ้าเป็นน้องเจ้าของกิจการอะไรสักอย่างนึง คนที่น้องอย่างจะรับเข้ามาทำงาน ก็คงจะเป็นคนที่เค้าจะต้องมีความสามารถทำงานให้เราคุ้มค่ากับเงินที่เราจ้างเค้าไป จริงไหม ?
ดังนั้น หากน้องเรียนเก่ง (อาจจะไม่เก่งก็ได้) สามารถเขียนโปรแกรมได้ วิเคราะห์ระบบได้ เข้าใจในสายวิชาที่น้องเรียนมาเป็นอย่างดี อันนี้คงไม่มีปัญหาครับ น้องคงได้งานที่น้องอยากได้แน่นอน


แต่
          หากน้องไม่มั่นใจว่าตัวเองจะเขียนโปรแกรมสู้คนอื่นได้ เข้าใจระบบเครือข่ายยังไม่ดีพอ หรือ เรียนได้ผลการเรียนเป็นระดับกลางๆ ของสายนั้นๆ อย่าเพิ่งท้อครับ ลองเพิ่มความพยายามดูอีกนิดนึงนะ แต่พี่ไม่แนะให้เพิ่มความพยายามในคณะที่เรียนนะ ลองหาสายอื่นดูบ้าง ยกตัวอย่างพี่เองนะ พี่เขียนโปรแกรมไม่เก่ง พี่ก็เลยเลือกศึกษาด้านภาษาเพิ่มเติม ศึกษาด้านการถ่ายรูปเพิ่มเติม ลองคิดดูว่า จะมีวิศวกรคอมพิวเตอร์กี่คนที่พูดได้หลายภาษา ถ่ายรูปสวยๆ ได้ ซ่อมกล้องถ่ายรูปได้ แบบนี้ถือว่าเรามีความได้เปรียบเหมือนกัน อยากให้น้องๆ ลองหยุด แล้วนึกดูว่า เราจะชอบอะไรอย่างอื่นอีกไหมนอกจากคอมพิวเตอร์ แล้วลองหาเวลาว่างศึกษาเพิ่มเติม เพื่อสร้างความได้เปรียบให้กับตัวเองครับ





 ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ขอบคุณครับ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~ ~